ข้ามไปเนื้อหา

อาตาริ จากัวร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Atari Jaguar)
อาตาริ จากัวร์
Atari Jaguar
ผู้ผลิตอาตาริ
ชนิดเครื่องเล่นวิดีโอเกม
ยุคยุดที่ห้า
วางจำหน่ายUS 18 พฤศจิกายน, 1993
ยอดจำหน่าย250,000 เครื่อง
สื่อตลับเกม, ซีดีรอม
ซีพียูโมโตโรลา 68000
เกมที่ขายดีที่สุดAlien vs. Predator
รุ่นก่อนหน้าอาตาริ 7800

อาตาริ จากัวร์ (อังกฤษ: Atari Jaguar) เป็นเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่ผลิตโดยบริษัทอาตาริ เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1993 อาตาริ จากัวร์ ถูกวางตัวให้เป็นคู่แข่งของเซกา เมกาไดรฟ์ และ ซูเปอร์แฟมิคอม และยังเป็นเครื่องเล่นเกมรุ่นแรกที่มีความสามารถในการประมวลผลแบบ 64 บิต แต่เครื่องเล่นเกมนี้ประสบความล้มเหลวในการทำตลาด และทำให้อาตาริถอนตัวจากธุรกิจฮาร์ดแวร์ในเวลาต่อมา

ประวัติ[แก้]

เครื่องอาตาริจากัวร์เป็นเครื่องเกมคอนโซลเครื่องสุดท้ายของบริษัทอาตาริ โดยมีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นเครื่องเกมที่เหนือกว่าเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมของนินเทนโดและเครื่องเมกาไดรฟ์ของเซกา โดยทางอาตาริมอบเงินทุนให้บริษัท "แฟลร์ เทคโนโลยี" เป็นผู้พัฒนา ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "แฟลร์ II"

บริษัทแฟลร์ II ได้ออกแบบเครื่องเกมไว้ 2 แบบด้วยกัน เครื่องแรกเป็นเครื่องเกม 32 บิท ใช้ชื่อว่า "แพนเทอร์" ส่วนอีกเครื่องเป็นเครื่องเกม 64 บิท ใช้ชื่อว่า "จากัวร์" และผลปรากฏว่าการพัฒนาจากัวร์เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาตาริจึงยกเลิกการพัฒนาแพนเทอร์ และหันมาทุ่มให้กับการพัฒนาจากัวร์

จากัวร์ออกวางตลาดในปี ค.ศ. 1993 ในราคา 250 ดอลลาร์สหรัฐ[1] โดยใช้สโลแกนว่า "คำนวณดูสิ" (Do the Math) เพื่อเป็นการโปรโมตว่าเครื่อง 64 บิทของตน เหนือกว่าเครื่องเกมอื่นที่เป็น 16 บิท ในช่วงแรกเครื่องจากัวร์ขายได้ค่อนข้างดี สามารถขายได้มากกว่าเครื่อง 3DO แต่ก็ได้รับการติติงในเรื่องเกมที่คุณภาพต่ำซึ่งบริษัทอาตาริมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีในเรื่องที่เครื่องเกมที่อาตาริผลิตส่วนมากมักจะมีแต่เกมคุณภาพต่ำ แต่เครื่องจากัวร์ก็ยังมีเกมที่มีคุณภาพอย่างเกม "เทมเพส 2000", "อเลี่ยน เวอซัส พรีเดเตอร์" และ "ดูม"

เครื่องจากัวร์ประสบปัญหาในเรื่องมีเกมให้เล่นน้อย[2] เนื่องจากเครื่องเกมที่ออกมามีปัญหาบั๊ก และขาดแคลนเครื่องมือในการพัฒนาเกม การพัฒนาเกมในจากัวร์จึงค่อนข้างยาก รวมทั้งนักเล่นเกมต่างก็บ่นว่าคอนโทรลเลอร์ของจากัวร์นั้นซับซ้อนเกินไป เนื่องจากมีปุ่มถึง 15 ปุ่ม[3]

ในปี 1995 เครื่องเพลย์สเตชันของโซนี่และแซทเทิร์นของเซกาก็ออกวางตลาด ทำให้สถาณภาพของจากัวร์ง่อนแง่นเข้าไปอีก ทางอาตาริพยายามเอาตัวรอดโดยให้สัมภาษณ์ว่าเครื่องจากัวร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแซทเทิร์นและต่ำกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพียงนิดเดียว ซ้ำยังทำนายว่าเครื่องเพลย์สเตชันจะวางจำหน่ายในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ และถ้าเกิดเพลย์สเตชันจะขายในราคาที่ต่ำกว่านี้ ทางอาตาริจะฟ้องร้องฐานกีดกันทางการค้า ซึ่งปรากฏว่าเครื่องเพลย์สเตชันวางขายในราคา 299 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทางอาตาริก็ไม่เคยดำเนินการฟ้องศาลดังที่ให้สัมภาษณ์ไว้[4] ทางอาตาริกล่าวอ้างว่าเครื่องจากัวร์ของตนเหนือกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพราะเครื่องจากัวร์นั้นเป็นเครื่องเกม 64 บิท แต่คำกล่าวอ้างนั้นเป็นคำกล่าวอ้างเกินความจริง เพราะเครื่องจากัวร์นั้นไม่ได้ใช้ CPU แบบ 64 บิทอย่างแท้จริง แต่ใช้ CPU 32 บิท 2 ตัวทำงานร่วมกัน

การเข้าสู่ตลาดของเครื่องเพลย์สเตชันส่งผลเสียอย่างมหันต์ต่อเครื่องจากัวร์ บริษัทอาตาริมีรายได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายใน 1 ปี[5] ในที่สุดบริษัทอาตาริก็ยุติการผลิตจากัวร์หลังจากที่ต้องรวมกิจการกับบริษัท JT Storage

คำวิจารณ์[แก้]

อาตาริจากัวร์ ถูกจัดอันดับให้เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่แย่ที่สุดในปี 2004 จากนิตยสาร EGM

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.pcguide.com/ref/cd/mediaCapacity-c.html
  2. http://www.wired.com/gaming/gamingreviews/multimedia/2007/05/gallery_game_history?slide=28&slideView=7
  3. http://xbox360.ign.com/articles/690/690449p1.html
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-15. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.